วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม



ภาพ:สันติภาพ1.jpg

         ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทยโดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันสันติภาพไทย"

ประวัติความเป็นมาวันสันติภาพไทย

        สันติภาพ หมายถึงเสรีภาพ สิทธิ หน้าที่ ที่ทุกคนจะต้องสร้างสันติภาพภายในประเทศก่อนที่จะมีสันติภาพกับภายนอกประเทศ ดังคำกล่าวที่ว่า "ถ้าที่ไหนมีการสู้รบ ประเทศชาติและประชาชนจะยากจน"
         "วันสันติภาพไทย"จะมีการจัดงานฉลองขึ้นทุกวันที่ 16 สิงหาคม เพื่อรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีของขบวนการเสรีไทย ที่ได้กระทำมาแล้ว ในระหว่างที่ ประเทศชาติอยู่ในช่วงวิกฤติ บทบาทอันสูงส่งนี้ย่อมได้รับการจารึกไว้ ในหน้าหนึ่งอันงดงามยิ่ง ของประวัติศาสตร์ไทย และจะเป็นอนุสาวรีย์ทางจิตใจที่จะเตือนใจให้ประชาชนชาวไทยรุ่นหลัง ได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง และเป็นแรงพลังทางใจในอันที่จะระแวดระวังรักษาไว้ ซึ่งอุดมการณ์อันดีงาม ของการต่อต้านสงครามและการรุกรานทุกรูปแบบ การต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยอย่างไม่ยอมจำนน และ เป็นการปลูกฝังให้ยุวชนรุ่นหลังรักสันติภาพ อีกทั้งเป็นการประกาศให้นานาประเทศ รับรู้เจตนารมณ์ ของประชาชนชาวไทย ที่จะยึดมั่นอุดมการณ์แห่งการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน และประชาคมโลก อย่างสันติและเอื้ออาทรต่อกัน
         "...สันติภาพ มิได้หมายความถึงการสงบนิ่งไม่กระทำการใดๆ เลย หากเป็นปฏิบัติการแห่งความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล ภารกิจเพื่อสันติภาพจึงเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติซึ่งจะบรรลุผลสำเร็จได้ มิใช่ด้วยการเรียกร้องที่จะได้รับ หากอยู่ที่การลงมือเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน…"
(พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเนื่องในงาน 50 ปี วันสันติภาพไทย วันที่ 16สิงหาคม 2538)

คำประกาศสันติภาพ

ภาพ:สันติภาพ2.jpg

         “คำประกาศสันติภาพ” ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีดังต่อไปนี้
        "...โดยที่ประเทศไทยได้เคยถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ เมื่อพุทธศักราช 2484 อยู่แล้วนั้น ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้ว ในเมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 โดยได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง และทหาร ตำรวจ ประชาชน พลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก
        เหตุการณ์อันปรากฏเป็นสักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าการประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนง ของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประชาชนชาวไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสหประชาชาติ ผู้รักที่จะให้มีสันติภาพในโลกนี้ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติดังที่สหประชาชาติส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้ว ทั้งนี้ เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อการประกาศสงคราม และการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว
        บัดนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมปฏิบัติตามคำประกาศของสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งได้กระทำ ณ นครปอตสดัมแล้ว สันติภาพจึงกลับคืนมาสู่ประเทศไทย อันเป็นความประสงค์ของประชาชนชาวไทย
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้
        บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง คือ รัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะริส เชียงตุง และเมืองพานนั้น ประเทศไทยไม่มีความปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านี้และพร้อมที่จะจัดการเพื่อส่งมอบในเมืองบริเตนใหญ่พร้อมที่จะรับมอบไป
        ส่วนบรรดาบทกฎหมายอื่นๆ ใดอันมีผลเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่และเครือจักรวรรดิ ก็จะได้พิจารณายกเลิกไปในภายหน้า บรรดาความเสียหายอย่างใดๆ จากกฎหมายเหล่านั้นก็จะได้รับชดใช้โดยชอบธรรม..."

ขบวนการเสรีไทย

ภาพ:เสรีไทย.jpg

        ขบวนการเสรีไทย (อังกฤษ: Free Thai Movement) เป็นขบวนการใต้ดินที่ดำเนินการระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วง พ.ศ. 2484 - 2488 มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย ขบวนการเสรีไทยกำเนิดขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกทัพเข้ามาทางด้านทิศตะวันออกและยกพลขึ้นบกจากอ่าวไทย เดิมเรียกขบวนการนี้ว่า "องค์การต่อต้านญี่ปุ่น" ภายหลังจึงเปลี่ยนไป "เสรีไทย" มีบทบาทเป็นแหล่งข่าวสำคัญของฝ่ายสัมพันธมิตร
        การที่รัฐบาลไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยินยอมตกลงเข้าร่วมกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ทำให้บุคคลสำคัญทางการเมืองการปกครอง ข้าราชการ และชาวไทยทั้งในและนอกประเทศไม่เห็นด้วยกับนโยบายประกาศสงคราม มีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มในประเทศ นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคนไทยในสหรัฐอเมริกา นำโดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการไม่ยอมส่งคำประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และถือว่าการประกาศสงครามนั้นมิใช่เจตนาของคนไทย กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มคนไทยในอังกฤษ นำโดยนักเรียนไทย ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
        ช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี การดำเนินงานของกลุ่มทั้งสามไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนักเพราะขาดการประสานงานร่วมกัน แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ความร่วมมือระหว่างกันก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่านายควง อภัยวงศ์จะแถลงนโยบาย ร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยใกล้ชิด ตามสัญญาพันธกรณีที่ได้มีต่อกันไว้ด้วยดี และให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นทุกประการ แต่ขณะเดียวกันคณะรัฐบาลก็มีรัฐมนตรีหลายคนที่เป็นบุคคลระดับหัวหน้าในองค์การต่อต้านญี่ปุ่น และคอยให้ความช่วยเหลือองค์การอย่างลับ ๆ
        เสรีไทยมีเครือข่ายความร่วมมือในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตร สหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ส่งหน่วยปฏิบัติการมาประจำในกรุงเทพฯ ด้านฝ่ายไทย นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งทหารไปประจำที่กองบัญชาการของฝ่ายสัมพันธมิตร ณ เมืองแคนดี ลังกา พร้อมกับส่งทหาร ตำรวจ และพลเรือนไปรับการฝึกกับ หน่วย โอ.เอส.เอส. (O.S.S : Office of Strategic Services) ของสหรัฐอเมริกา และกองกำลัง 136 ของอังกฤษ ในอินเดียและลังกา
        นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตร และโรงเรียนนายสิบสารวัตรทหาร โดยรับสมัครนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนเตรียมปริญญาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนักเรียนโรงเรียนเตรียมนายเรือ มาฝึกให้เป็นผู้บังคับบัญชาของกองกำลังใต้ดินเพื่อเตรียมสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นในวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนด มีการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในประเทศร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น ส่งข่าวด้านยุทธศาสตร์ทางทหารตลอดจนรายงานสภาพดินฟ้าอากาศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบ ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถปฏิบัติการทางทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        อย่างไรก็ดี การปะทะกันระหว่างขบวนการเสรีไทยกับกองทัพญี่ปุ่นไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 แม้ว่าไทยจะร่วมกับญี่ปุ่นในการประกาศสงคราม แต่ความร่วมมืออย่างลับ ๆ ของไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามยุติ โดยสหรัฐอเมริกาถือว่าไทยไม่เคยประกาศสงครามต่อประเทศของตน ขณะที่อังกฤษดำเนินนโยบายต่อไทยแตกต่างไปจากสหรัฐอเมริกา

สมาชิกขบวนการเสรีไทย

  • ปรีดี พนมยงค์ - หัวหน้าขบวนการเสรีไทย
  • พันตรี จำกัด พลางกูร - เลขาธิการคณะเสรีไทยสายภายในประเทศและผู้แทนคณะเสรีไทยที่เดินทางไปติดต่อกับสัมพันธมิตรในจีน
  • ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช - เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ผู้นำขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา
  • ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์
  • ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ - ผู้นำขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ
  • สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี - พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสรีไทยในอังกฤษ
  • ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ - ผู้มีส่วนช่วยให้ไทยส่งข่าวสารถึงฝ่ายพันธมิตรได้เป็นผลสำเร็จ
  • พล อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา
  • หลวงดิฐการภักดี - เลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา
  • นายอนันต์ จินตกานนท์ - เลขานุการโทสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา
  • ม.ล. ขาบ กุญชร ( เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา )
  • พลตรีนิรัตน์ สมัถพันธุ์ ( เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา )
  • ศาสตราจารย์ ดร.เจริญ เจริญรัชตภาคย์ (เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา )
  • ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ( เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา )
  • คุณกรองทอง ชุติมา ( เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา )
  • คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร                                                                                                                 ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น